หน้าแรก / ข่าว

หัวใจของ MOOC

วันที่ 13/07/2017

Massive Open Online Courseware (MOOC)

MOOC คือหลักสูตร (Course) ที่เรียนออนไลน์ (Online) จากระบบที่เปิดให้ใช้งานฟรี (Open) และรองรับผู้เรียนจำนวนมาก (Massive) ผู้เรียนสามารถเชื่อมต่อเข้าไปดูวิดีโอการบรรยาย เข้าไปฝึกปฏิบัติ ทำแบบทดสอบแบบฝึกหัด หรือเข้าไปร่วมสนทนากับผู้เรียนอื่นๆ ได้ MOOC จะเน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและมีการสร้างระบบที่ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนสามารถสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กันได้มากขึ้น มีการออกแบบที่ช่วยให้ครูสามารถตรวจสอบข้อมูลการเรียนของนักเรียนได้ง่ายขึ้น เช่น คุณครูสามารถเข้ามาดูสถิติได้ว่านักเรียนเข้าดูบทเรียนใดบ้าง หรือว่านักเรียนใช้เวลากับการทำแบบฝึกหัดใดมากเป็นพิเศษ ทำให้รู้ได้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความเก่งหรือไม่ถนัดในเรื่องใด หรือรวมไปถึงทำการวิเคราะห์โจทย์การบ้านที่มีนักเรียนทำผิดเป็นจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีเนื้อหาส่วนใดที่นักเรียนยังไม่เข้าใจ และระบบก็จะช่วยให้คำแนะนำแก่นักเรียนที่ตอบผิดได้ทันทีว่าเนื้อหาที่เข้าใจผิดอยู่ตรงไหนของบทเรียน การที่ครูสามารถเข้ามาดูสถิติข้อมูลต่างๆ พวกนี้ ก็จะเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลกัน ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ไขข้อด้อยของการเรียนทางไกลแบบเดิมที่เป็นการสื่อสารทางเดียว โดยที่นักเรียนไม่ได้รับปฏิสัมพันธ์ใดๆ ตอบกลับจากครูผู้สอนได้เลย

อีกเหตุผลหลักที่ทำให้ MOOC เป็นที่นิยมขึ้นมาก็เพราะว่า MOOC ถูกเริ่มทดลองใช้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา อาทิ Harward University, MIT และ University of California Berkeley ซึ่งเริ่มต้นจากภายในมหาวิทยาลัย ต่อมาพัฒนามาเป็นความร่วมมือระหว่างหลายๆ มหาวิทยาลัย โดยมีการจัดทำ Platform ให้มหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถเอาวิชาที่มีอยู่แล้วใส่เข้าไป เพื่อแบ่งปันข้อมูลและเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลหลักสูตรต่างๆ ได้ง่ายขึ้นเช่น edX ซึ่งเป็น Platform ที่เพิ่งทำการเปิดตัวไปเมื่อ เมษายน พ.ศ. 2555 อาจกล่าวได้ว่า MOOC คือรูปแบบการนำเสนอระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ที่รองรับการเข้าถึงของผู้เรียนจากทุกที่ทั่วโลกจำนวนมาก และมีบทเรียนที่ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนแบบออนไลน์ได้ฟรีจำนวนมากจากมหาวิทยาลัย/สถาบันชั้นนำของโลก ในบางหลักสูตรเมื่อผู้เรียนเรียนจบสามารถนำผลการเรียนไปเทียบโอนหน่วยกิตในมหาวิทยาลัยได้ หรือการได้รับประกาศนียบัตร อาจมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ตามเงื่อนไขของแต่ละหลักสูตร



 

ข้อมูลสถิติการใช้งานระบบ MOOC (source: http://www.moocsuniversity.org/home.html)

จุดเด่นของ MOOC

  • การเข้าถึง (Accessiblility) การเชื่อมต่ออย่างไร้ขีดจำกัดของ MOOC ไม่จำกัดคุณลักษณะของผู้เรียน ไม่มีการกำหนดอายุของผู้เรียน ไม่มีการจำกัดจำนวนผู้เรียน เพียงแค่สนใจในหัวข้อของชั้นเรียนใด ผู้เรียนก็สามารถเข้าชั้นเรียนรายวิชานั้นๆ ได้ ด้วยความพิเศษนี้ MOOC จึงเป็นที่รวมของผู้เรียนหลากหลายอายุ อาชีพ ประสบการณ์ ผู้เรียนจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆ จากคำถาม ข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ผู้เรียนแบ่งปันในชั้นเรียน สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าต่อการเรียนรู้และการต่อยอดองค์ความรู้
  • การปฏิสัมพันธ์ (Interaction) นอกจากการไม่จำกัดจำนวนผู้เรียนที่กล่าวถึงแล้ว การมีส่วนร่วมของผู้เรียนในชั้นเรียน MOOC ก็ไม่ได้ถูกจำกัดเช่นกัน ผู้เรียนสามารถใช้ MOOC ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนรู้ ทั้งการแสดงความคิดเห็น ทั้งการตอบคำถามจากชุดคำถามที่ผู้สอนเตรียมไว้ในขณะสอนหรือดูการบรรยาย ทั้งการทำงานร่วมกันทั้งในระดับกลุ่มย่อย หรือร่วมกันทั้งหมดที่เข้าเรียนในหลักสูตรเดียวกัน ผู้เรียนสามารถนำความรู้ วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนผ่าน MOOC ไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพในตนเอง (personal enrichment) ให้สูงขึ้นได้มากมายทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ยิ่งมีส่วนร่วมมาก ยิ่งได้รับมาก
  • Flipped Classroom คือการผสมผสานระหว่างห้องเรียนออนไลน์ (Online Classes) กับการเรียนแบบ face-to-face Learning เพื่อการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนตลอดการบรรยาย เพราะรูปแบบของชั้นเรียนและผู้เรียนที่มีความหลากหลาย วิธีการเผยแพร่ความรู้ของผู้สอนก็ต้องออกแบบให้หลากหลายและสอดคล้องกับชั้นเรียนและจำนวนผู้เรียนด้วยเช่นกัน การสอนมีทั้งสอนจากวิดีโอที่อัดไว้ หรือการถ่ายทอดสดแบบ streamimg ตามช่วงเวลา มีการแทรกชุดคำถามไว้เพื่อตรวจสอบความรู้ระหว่างการสอน มีการออกแบบคำถามและการบ้าน ตรวจงานในระบบออนไลน์ มีระบบสื่อสารพูดคุยไว้สำหรับผู้เรียนสอนถามเพื่อนร่วมชั้นหรือสอบถามผู้สอน ทั้งหมดนี้ทำให้ MOOC มีความน่าสนใจ หากผู้เรียนไม่มีสมาธิในการรับฟังการบรรยาย ผู้เรียนจะไม่สามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชั้นเรียนได้ ดังนั้น MOOC จึงกระตุ้นให้ผู้เรียนโฟกัสกับชั้นเรียนมากขึ้น
  • เสรีภาพในการเลือกเรียนรู้ (Freedom) การเรียนผ่านคอร์สแบบ MOOC ส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายทำให้ใครก็ตามที่มีอินเตอร์เน็ตก็สามารถมีเสรีภาพในการเลือกเข้าศึกษาในวิชาที่ตัวเองสนใจได้ เลือกวิธีการเรียน เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ และหากเข้าร่วมกิจกรรม หรือผ่านการทดสอบในแต่ละหลักสูตร ยังมีโอกาศได้ใบประกาศนียบัตรอิเล็กทรอนิกส์หลังจากจบหลักสูตรหรือใช้เพื่อเทียบโอนหน่วยกิจในบางรายวิชาได้อีกด้วย ส่วนค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้นเล็กน้อยเป็นค่าใช้จ่ายในการเทียบโอนหน่วยกิต หรือค่าใช้จ่ายในการจัดสอบที่ศูนย์สอบเพื่อยืนยันตนว่าตรงกับผู้เรียนใน MOOC หรือค่าใช้จ่ายในการออกประกาศนียบัตร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นค่าดำเนินการของผู้ให้บริการระบบ MOOC บางรายเท่านั้น

 

ข้อมูลอ้างอิง
• Massive open online course, แหล่งที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Massive_open_online_course
• MOOCing for knowledge. แหล่งที่มา: https://sites.google.com/site/libmooc/home/what-s-amooc
• วรพล รัตนพันธ์, “MOOC: เรียนฟรีกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก”. แหล่งที่มา: http://www.vcharkarn.com/varticle/44387